ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาโดยสังเขป
“สงขลา” เป็นชื่อเรียกเมืองหรือชาวชุมชนเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองสทิงพระซึ่งตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ของคาบสมุทรสทิงพระที่อยู่ด้านตะวันออกของทะเลสาบซึ่งต่อมาเรียกว่าทะเลสาบสงขลาและอยู่ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย
ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๕ มีชุมชนและบ้านเมืองตั้งอยู่ในบริเวณนี้เรียกว่า “เมืองสทึง” เป็นสมัยที่ชาวอินเดียตอนใต้มีอำนาจเหนือคาบสมุทรสยาม – มลายา ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑ ชุมชนและบ้านเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณนี้ขึ้นอยู่ในอำนาจอาณาจักรตามพรลิงค์ (ต่อมาคือเมืองนครศรีธรรมราช) แต่เมืองที่อยู่ด้านตะวันออกของคาบสมุทรถูกโจรสลัดมลายูปล้นเมืองบ่อยๆ ผู้คนจึงอพยพหนีภัยกระจัดกระจาย เจ้าเมืองสทิงพระจึงอพยพผู้คนส่วนหนึ่งข้ามทะเลสาบไปตั้งชุมชนและศูนย์กลางการปกครองใหม่ขึ้นที่เมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมเมืองสทิงพระและเมืองพะโคะจรดอ่าวไทยทางตะวันออก และมีอำนาจครอบคลุมถึงทะเลอันดามันด้านตะวันตก
เมื่ออาณาจักรตามพรลิงค์เริ่มเสื่อมอำนาจแล้วได้รับการฟื้นฟูเป็นเมืองนครศรีธรรมราชๆ ตกเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา พวกโจรสลัดได้เข้าปล้นเมืองทางฝั่งตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง ผู้คนในบริเวณนี้พวกหนึ่งหลบหนีข้ามทะเลสาบติดตามไปหาคนรุ่นก่อนทางพัทลุง อีกพวกหนี่งหนีไปตั้งชุมชนขึ้นทางใต้ตรงบริเวณริมเขาแดงชายเขตเมืองสทิงพระซึ่งขณะนั้นเป็นเกาะใหญ่ปากทะเลสาบสงขลา เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นบริเวนหัวเขาแดงในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ และรุ่งเรืองจากการค้าขายกับพ่อค้าจากอาหรับอินเดียและยุโรป กลายเป็นเมืองใหม่ที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าค้าขายและที่พักสินค้า โดยพ่อค้าชาวอินเดียเรียกเมืองนี้ว่า เมืองสิงหนครา (Singhanakara) เป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าชาวเมืองเรียกเพี้ยนมาเป็นเมือง “สงขลา” ส่วนชาวอาหรับชาวยุโรปต่างๆ เรียกเมืองนี้ว่าเมืองซิงกูร์ (Cingor) หรือเมืองแซงกอรา (Sangora)
จนกระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ สมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งอาณาจักรอยุธยา มีชาวมุสลิมนำโดยดะโต๊ะโมกอลล์ จากเมืองสาเลห์ หมู่เกาะชวาอพยพผู้คนหนีภัยเข้ามาปักหลักอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนเมืองใหม่แห่งนี้ ร่วมทำการค้า สร้างป้อมปราการ กำแพงเมืองเพื่อป้องกันภัยจากศัตรูและหมู่โจรสลัดขึ้นในบริเวณนี้ เมืองสงขลาที่เจริญขึ้นจึงมีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาสุลัยมันบุตรของดะโต๊ะโมกอลล์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางของอยุธยาในกำกับดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช มีหน้าที่ปกครองบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกตั้งแต่ริมแดนนครศรีธรรมราชจนจรดริมเขตเมืองปัตตานี และบริเวณครึ่งล่างของเมืองตรัง ปะเหลียน พัทลุงและสงขลาทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ
เมื่อเกิดขบถขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เมืองสงขลาประกาศตนเป็นอิสระตั้งตนเป็น “พระเจ้าเมืองสงขลา” กรุงศรีอยุธยาและนครศรีธรรมราชส่งกองทัพเข้าปราบหลายครั้งและทำลายเมืองลงได้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ยุบเลิกเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง ชาวเมืองเชื้อสายมุสลิมให้แยกส่วนหนึ่งไปอยู่ที่เมืองไชยา อีกส่วนหนึ่งแยกไปที่กรุงศรีอยุธยา ชาวเมืองที่เหลือให้ย้ายไปตั้งชุมชนเมืองสงขลาขึ้นใหม่ตรงบริเวณแหลมสนอีกด้านหนึ่งของเขาหัวแดง คัดเลือกเจ้าเมืองจากชาวบ้านได้ชาวเมืองชื่อนายโยน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสงขลา ส่วนบริเวณเดิมของเมืองสงขลาหัวเขาแดงต่อมามีชาวจีนอพยพมาจากมณฑลฟูเจี้ยนนำโดยจีนเหยี่ยง แซ่เฮา เข้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นและขอผูกขาดทำรังนกที่เกาะสี่และเกาะห้ากลางทะเลสาบสงขลาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงอินคีรีสมบัติ นายอากรรังนก จนกระทั่งในสมัยกรุงธนบุรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสงขลาแทนเจ้าเมืองสงขลาเดิม
ต่อมากรุงศรีอยุธยาถูกทำลายจากสงครามกับพม่า เมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองมลายูเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชต่างก็แข็งเมืองตั้งตัวเป็นอิสระ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งกองทัพลงมาปราบเมืองนครศรีธรรมราชลงได้ จึงตั้งผู้ครองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ เมื่อล่วงสมัยกรุงธนบุรีมาถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกทัพมาปราบปรามกองทัพพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ หลังปราบกองทัพพม่าแล้วทรงยกกองทัพมาตั้งที่เมืองสงขลาเพื่อปราบปรามหัวเมืองมลายูเดิมที่แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา
เมืองสงขลาที่มีที่ตั้งเมืองอยู่ติดกับหัวเมืองมลายู จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นพื้นฐานการเป็นเมืองสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการปกครองหัวเมืองมลายูและหัวเมืองปักษ์ใต้ของทางราชการในระยะต้นกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับอำนาจให้ควบคุมเมืองไทรบุรีรวมทั้งเมืองบริวารของเมืองไทรบุรีรวม ๗ เมือง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองมายังตำบลบ่อยางซึ่งตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ตรงกันข้ามเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการและจัดระบบการปกครองราชการส่วนภูมิภาคขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาล ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนภูมิภาคทางตอนปลายของภาคใต้ ตั้งที่ว่าการมณฑลขึ้นที่เมืองสงขลาบ่อยาง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองเปลี่ยนแปลงการเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลคณะราษฎรได้ปรับปรุงมณฑลเทศาภิบาลเสียใหม่โดยจัดเป็นศูนย์กลางการปกครองส่วนภูมิภาคเป็น ๙ ภาค และให้รวมจังหวัดในภาคใต้เป็นภาค ๙ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๔ ตั้งที่ว่าราชการภาค ๙ ขึ้นที่จังหวัดสงขลายังผลให้จังหวัดสงขลายังคงเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของภาคใต้เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน
====================================
หนังสืออ้างอิง
ชุลีพร วิรุณหะ. น้ำตาล ข้าว ดีบุก ยางพารา การค้าและการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คริสต์ศตวรรษที่ 19
ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559
ผาณิต รวมศิลป์ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2481ถึง พ.ศ. 2487.
วิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๑.
พรรณี อวนสกุล. กิจการเหมืองแร่ดีบุกกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. 2411-2474.
วิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๒.
เพียงแข พงษ์ศิริบัญญัติ. ประวัติศาสตร์บอกเล่าเมืองสงขลาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488)
สงขลา : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, 2550
ภูวดล ทรงประเสริฐ. ทุนจีนปักษ์ใต้ : ภูมิหลังเบื้องลึกทุนใหญ่โพ้นทะเล. กรุงเทพฯ : Tipping Point Press, 2546
ภูวดล ทรงประเสริฐ. ทุนสิงคโปร์ : การผูกขาดตลาดยางพาราและดีบุกไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ, 2535
ภูวดล ทรงประเสริฐ. รากเหง้าอิทธิพลการค้าจีนในอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : ยูเรก้า, 2550
วชิราวรรณ ตัณฑะหงษ์. นโยบายเศรษฐกิจที่มีต่อหัวเมืองไทยฝั่งตะวันตก สมัยรัชกาลที่ 5.
วิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๒.
อารีฟิน บินจิ อ. ลออแมน และซูฮัยมีย์ อิสมาแอล. ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู.
สงขลา : มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, 2558
ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549
เฟรเดอริค อาร์เธอร์ นีล ; แปลโดย สินจง สุวรรณโภคิน. ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทัศนะของชาวต่างประเทศ